วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทประสิทธิผลเครือข่าย ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit) ในขั้นตอนที่ 2 ผลงาน “การใช้กลไกสหกรณ์และภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน” ของกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยมี ดร.อรพินท์ สพโชคชัย เป็นประธานคณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ และมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการตรวจประเมิน ณ ห้องประชุม 126 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ และผู้แทนสถาบันเกษตรกรจาก 5 จังหวัด เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom Meeting
โอกาสนี้ คณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐได้รับชม VTR การนำเสนอผลงาน “การใช้กลไกสหกรณ์และภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน” พร้อมร่วมตอบข้อซักถามของคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ซึ่งการนำเสนอในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 เรื่อง ได้แก่
1.เรื่องภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการนมทั้งระบบ นำเสนอโดย นางสาวชัญญา จงทัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจโคนมของสหกรณ์ โดยการบริการจัดการนมทั้งระบบมีบทบาทการบริหารจัดการผ่าน MOU ยึดในหลักความถูกต้องการได้มาของปริมาณน้ำนมผ่านกระบวนการรายงานปริมาณน้ำนม หลักความมั่นคงมีผู้ซื้อที่แน่นอน วางแผนการผลิตได้ มีการซื้อ – ขายตามมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายภายใต้กรอบภารกิจส่งเสริมสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง มีการเชื่อมโยงเครือข่ายและเพิ่มช่องทางการตลาด และยึดหลักตลาดนำการผลิต วิเคราะห์สถานการณ์ปริมาณน้ำนมดิบในภาคสหกรณ์ รวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อีกทั้งบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งการบริการจัดการน้ำนมดิบระหว่างเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้ คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์
2.สหกรณ์เครือข่ายผลไม้สร้างชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นำเสนอโดย นางสาววรรณพร บัณฑิตภูวนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสหกรณ์การเกษตร 2 ทั้งนี้ ในเรื่องของการขับเคลื่อนเครือข่ายผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมด้านการผลิต ส่งเสริมการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GAP มีการสนับสนุนเงินทุน และอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายผลผลิต รวมทั้งด้านการตลาด มีทั้งตลาด Offline และ Online ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ 31 จังหวัด และมีกรอบการขับเคลื่อนเครือข่ายผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์จะได้รับรองมาตรฐานสินค้า GAP ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิตและช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ราคาผลผลิตสูงขึ้น สหกรณ์ได้รับสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิต การรวบรวมและการตลาด ส่งผลให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน สมาชิกสหกรณ์ได้รับการส่งเสริมการผลิตมีคุณภาพ มีตลาดที่รับซื้อแน่นอน มีรายได้ที่มั่นคงและชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมส่งเสริมสหกรณ์
ชั้น 6 อาคาร 1 เลขที่ 12 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์. 0 2281 7002 ,0 2628 5140 E-mail.
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมส่งเสริมสหกรณ์
Copyright all reseve 2022